วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

=ชาวประมง=




๓๑ มีนาคม ๕๒ ค่ายรุ่นที่ ๓ วันที่ ๒

เช้าวันนี้บรรยากาศค่ายเริ่มต้นด้วยความเงียบเหงามาก เกือบ ๘ โมงเพิ่งมีเด็ก ๆ ๓-๔ คน จนผู้ปกครองตกใจคิดว่าเด็กคนอื่นๆไม่มากันแล้ว แต่พอสัก ๘.๓๐ น.ก็มากันเกือบครบ เด็กๆ นั่งทำงานกันเงียบๆ เรียบร้อย น่ารักมาก (จนน่าตกใจ) ชื่อภาพวันนี้คือ "ชาวประมง" ครูนกก็จะย้ำเด็กๆ ให้วาดตัวโตๆ หน่อยจะได้ระบายสีได้ง่าย รายละเอียดก็ชัดเจน หลายคนงานดีขึ้น แต่อีกหลายๆ คนก็บ่นเมื่อย บ้างก็ว่ากระดาษมันใหญ่จัง แต่เด็กๆ ก็มีความพยายามที่จะทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนใหญ่วันนี้ก็ทำงานเสร็จกันเร็ว พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ครูนกบอก "ใครจะไปเล่นให้ไปใส่รองเท้า" ไม่เกิน ๒ นาที ใส่รองเท้าพร้อมเข้าแถวกันเรียบร้อย (เร็วจริงๆ เลยนะ เวลาจะได้ไปเล่นเนี่ย) พี่เชอรี่ก็พาไปอาคารจักรวาล ซึ่งเป็นอาคารที่จัดแสดงชุดนิทรรศการเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน เด็กๆ ได้เล่นไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้

และแล้วเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ถึงภาวะโลกร้อนของจริง อยู่ๆ ก็มีลมพายุพัดมาแล้วฝนก็ตกอย่างหนัก เด็กๆ นั่งเล่นกันอยู่ข้างในห้อง ไม่มีใครอยากออกไปไหนเลย ก็คงเพราะว่าเมื่อวาน ครูนกเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า ครูนกเพิ่งโดนของมีคมบาดที่ต้นคอ ตอนที่ลมพัดมาแรงๆ คิดว่าน่าจะมากับลมนั่นแ หละ (เด็กๆ เลยไม่กล้าออกไปไหน) พอทั้ง ๒๕ คน รวมกันอยู่ในห้อง (แบบว่าไปไหนไม่ได้) ความโกลาหลก็เริ่มขึ้น สารพัดเกมที่จะหามาเล่นกัน ทำให้ของกระจัดกระจายเ ต็มห้อง (ที่ครูนกบอกว่า เรียบร้อย น่ารัก ขอถอนคำพูดนะคะ ) ครูนกก็ยุติความโกลาหลด้วยการบอกว่า บรรยากาศแบบนี้ต้องปิดไฟแล้วก็เล่าเรื่องผี เท่านั้นแหละ ทิ้งของเล่นลงมานั่งล้อมครูนกกันใหญ่ (นึกว่าจะกลัวกันซะอีก) แต่แล้วครูนกก็ไม่ได้เล่า ได้แต่ปรึกษากับเด็กๆ ว่าถ้าฝนยังตกหนักแบบนี้ วันนี้เราก็จะทำกระดานดำกันต่อไม่ได้ เพราะว่าวันนี้จะระบายสีแผ่นไม้ ซึี่งต้องออกมาทำงานกันนอกห้อง ก็เลยว่าจะหาอย่างอื่นให้ทำไปก่อน อยู่ๆ ฝนก็ซา เด็กๆ ดีใจกันใหญ่ (ไม่ใช่ว่าจะได้ระบายสีหรอก จะได้ลงไปเล่นต่างหากล่ะ) พวกเราก็เลยได้ระบายสีกระดานดำกัน มีให้เลือก ๓ สี ด้วยกัน ดำ เขียว และน้ำเงิน

และแล้วก็ถึงเวลาที่เด็กๆ รอคอย...ของว่าง...และของเล่น ของว่างวันนี้ ครูให้เด็กๆ ไปเลือกเอง ใครจะกินอะไรก็ได้คนละ ๑ อย่าง ไม่ต้องจ่ายสตางค์ แต่ถ้าจะกินเพิ่มก็ต้องจ่ายเอง รุ่นนี้ฉลาดเลือก ของแพงกว่าให้ครูจ่่าย อันถูกกว่าหนูจ่ายเอง (ไม่เป็นไรค่ะ เพื่อเด็ก ๆ ครูำเต็มใจ) พอทานกันเสร็จ จอมซนทั้งหลายก็วิ่งกันทั่วพิพิธภัีณฑ์เด็กฯ น่ารักดีค่ะ

สองวันผ่านไป ยังไม่มีเรื่องชวนปวดหัว โชคดีของครูนกจริงๆ

ขอบพระคุณค่ะ
=ครูนก=




วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

ภาพชีวิต...ที่แลเห็นทุกๆวัน



นอนห้อง นั่งเล่นที่บ้าน มาร่วมสองปี

ลูกๆติดแม่ โดยเฉพาะคนเล็ก
.............

ปลูกไม้เลื้อย หิรัญญิกา สร้อยฟ้า ชมนาด พวงคราม สายหยุด พลูด่างเอาไว้กันแดดรอบๆบ้าน

เวลากลางวันที่บ้านจะเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ถ้าต้นไม้เยอะ ยุงก็จะมาก

ที่บ้านจะเงียบสงบ เพราะห่างจากเมือง ยี่สิบกว่ากิโลเมตร ในตอนเช้าเสียงนกที่ตื่นเช้าๆมาหาหนอนตัวอ้วนๆ จะส่งเสียงไพเราะ ที่นี่มีนกมากนัก แต่คงหลายชนิด ฟังเสียงแล้วไม่เหมือนกัน

เมื่อลึมตาตื่น จะลุกจากเตียงแล้วมาพักสายตาที่หน้าต่างทุกวัน....







ครูนิดจะชอบ สายหยุดมาก ในตอนเช้าๆเมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมจางๆ ไปที่ห้องนอน พอสายๆสิบโมง กลิ่นหอมๆก็จะจางไป

ต้นนี้ได้มาจากสวนสมเด็จ หัวหน้าสวนแบ่งมาให้สองต้น โตช้าแต่แข็งแรง และชอบแดดมากๆ

ครูแหลมชอบสายหยุดเพราะ อ.นางสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (สุวรรณี สุคนธา) อ.ชอบดอกไม้ เวลาอ.พูดถึงกลิ่นของดอกไม้ อ.จะอธิบายให้เรา รู้สึกถึงกลิ่นได้เลย...

นวนิยายเรื่อง สายบ่หยุดเสน่ห์หาย และ เก้าอี้ขาวในห้องแดง ที่ อ.เขียน ทุกฉากจะเกิดขึ้นที่ ม.ศิลปากร งานเขียนของอ.เหมือนภาพสีน้ำมัน ที่ค่อยๆ ค่อยๆ เขียน ลอยอักษร เหมือนรอยฝีแปรง




ที่ต้นไม้บ้านเรา มีครอบครัวกระแตอยู่ด้วย เวลาทำงานจะเห็นเขาไต่ไปไต่มา อย่างรวดเร็ว แล้วชอบมาหยุดจ้องดูครูแหลมทำงาน มีบางครั้งที่เราสบสายตากัน...เหมือนจะถามสารทุกข์สุกดิบว่าวันนี้เป็นไงบ้าง..... สบายดีมั้ย....

ครูแหลมยิ้มให้เขาทุกครั้ง ...คอยประเดี๋ยวชิ ...ขอถ่ายรูปหน่อย วันนี้เขายอมอยู่นิ่งให้ถ่ายภาพ แล้วก็วิ่งปรู๊ด... ไปเลย ยังไม่ได้ขอบคุณเลย


ขอบพระคุณมากครับ
=ครูแหลม=


เด็ก ๔๘ คนไปเขียนรูปที่อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม


๔๘ ซนตะลุยอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม

บันทึกค่ายศิลปะปิดเทอมฤดูร้อน ๒๕๕๒ รุ่นที่ ๒




เพิ่มเติมได้ที่ http://ppmantana.multiply.com/photos/album/171/171

รายละเอียดค่าย http://www.art-laemkom.com



วันอังคาร ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๒


วันนี้ครูแหลมพาเด็กๆจาก ๔๘ คนจากโรงเรียนศิลปะแหลมคมทั้ง ๓ แห่งไปเขียนรูปที่อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม จ.ราชบุรีค่ะ เด็กๆตื่นเต้นกันมากที่จะได้ไปเที่ยว แต่หลายๆคนก็หวาดหวั่นในใจ “หนูกลัวผี” น้องแป้งบอก


เช้านี้คุณครูนัดเด็กๆมารวมตัวกันก่อน ๗ โมงเช้าที่โรงเรียน หลายๆคนมาพร้อมกันแล้วขาดแต่น้องภูมิ ๗ โมง ๒๐ แล้วคุณครูจึงตัดสินใจว่าจะไม่รอ (เดี๋ยวให้ไปพร้อมครูนิดซึ่งจะขับรถตามไปอีกคัน) คุณครูรวมเด็กๆแล้วทำ “สนธิสัญญาไม้เรียว” ทันที ตามสัญญาระบุไว้ว่าถ้าเด็กๆดื้อมากๆ ซนมากๆ คุณครูสามารถตีได้ทันทีโดยไม่ต้องเตือน เด็กเซ็นสัญญาใจยอมรับในข้อตกลง วันนี้คุณครูจุดุเป็นพิเศษค่ะ เพราะต้องรับผิดชอบเด็กตั้ง ๑๗​คนจากเจริญพาศน์ ๑๐ คนจากพระราม ๙ และ ๒๑ คนจากพิพิธภัณฑ์เด็กฯ จึงต้องใส่ใจ และดูแลให้ดีสมกับที่ท่านผู้ปกครองทุกท่านไว้วางใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับวันนี้ก็คือ “ไม้เรียว” ๗ โมงครึ่งเด็กๆเดินไปขึ้นรถเป็นแถว รถกำลังจะออกน้องภูมิก็มาถึงพอดี (เกือบไม่ทันแล้วสิ)


เด็ก ๑๗ คนกับครูอีก ๓ คน (ขาดน้องภรรทไป ๑ คน เพราะไม่สบาย) อยู่บนรถตู้คันใหญ่ มุ่งหน้าสู่ จ.ราชบุรี ตลอดทางมีแต่เสียงเด็กๆเล่นกัน คุยกัน ตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงราชบุรี ไม่มีหยุดสงสารพี่คนขับรถเหลือเกิน “เด็กๆเสียงดังหน่อยนะคะพี่” ครูแป๋มบอก “ไม่เป็นไรครับ ผมชินแล้ว” พี่คนขับรถใจดี พูดแล้วอมยิ้ม


ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงกว่าๆ พวกเราก็มาถึงพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งสยาม รถตู้จากพระราม ๙ มาถึงก่อนแล้ว ครูต้นคุมเด็กๆนั่งรออยู่ที่โรงอาหาร และวันนี้เองคุณครูก็ได้เจอกับ “เจ้าม่อน” แห่งพระราม ๙ ได้ยินมาว่า “เจ้าม่อน” ซุกซนนัก เจอกันครั้งแรกก้ได้ดุกันเลย ฮ่าๆๆๆ ทั้งแสบและซนสมชื่อจริงๆ

ครูแจง ครูนัฐ พาเด็กไปนั่งในโรงอาหารรวมกับเด็กๆกลุ่มพระราม ๙ รอเพื่อนๆจากพิพิธภัณฑ์เด็กอีก ๒๑ คน




๙ โมงกว่าครูแหลม และครูนกก็พาเด็กๆจากพิพิธภัณฑ์เด็กมาถึง ครูนกพกไม้เรียวมาด้วย ๑ อัน (อิอิ เหมือนครูแป๋มเลย) ครูแหลมเรียกเด็กๆมานั่งรวมกันทั้งหมด และแนะนำพี่เจ้าหน้าที่ที่มาเป็นวิทยากรให้เด็กๆรู้จัก พี่สาวคนสวยชื่อว่า “พี่หน่อย” ค่ะ ก่อนส่งเด็กๆให้พี่หน่อยพาเที่ยว ครูแหลมกำชับเด็กๆอีกครั้งว่าอย่าซุกซน “วันนี้คุณครูไม่ได้เอาไม้โมกสักมา (ชื่อไม้เรียวประจำตัวของครูแหลมค่ะ) แตคุณครูเอาสมุดจดมาจะจดชื่อเอาไว้ไปตีที่โรงเรียน แต่ถ้ามันเหนือบ่ากว่าแรงมากๆ ครูแป๋ม ครูนกก็มีไม้อยู่คนละอันก็จะทำโทษเด็กๆได้ทันที” ครูแหลมบอก





เด็กเดินตามพี่หน่อยไปเป็นแถวอย่างเรียบร้อย




สถานที่แรกที่เด็กได้เข้าไปชมก็คือ อาคารเชิดชูเกียรตภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ของบุคคล สำคัญทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค เช่น อาทิม.ล. ปิ่น มาลากุล นักการศึกษาคนสำคัญของไทย ผู้ริเริ่ม การจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในส่วน ภูมิภาค ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์นักกฎหมาย ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด ทั้งทางฝ่าย ตุลาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้วาง รากฐานนโยบายเศรษฐกิจของไทย รวมถึงการร่าง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาจารย์ มนตรี ตราโมท บรมครูผู้อนุรักษ์และสืบสานงานดนตรีไทย สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่ง ยอมสละชีพเพื่อรักษาผืนป่าอันเป็นที่รัก แม่ชีเทเรซ่า แม่พระของชาวโลก ผู้ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย และผู้ยากไร้โดย ไม่คำนึงถึง เชื้อชาติและศาสนาประธานาธิบดีโฮจิมินห์ วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชของ เวียดนาม เหมา เจ๋อ ตุง และ เติ้ง เสี่ยว ผิง นักปฏิวัติผู้นำประเทศจีน เข้าสู่ยุค เปิดประเทศ และก้าว ขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก เป็นต้น




เด็กตื่นตาตื่นใจกับหุ่นที่เห็นอยู่เบื้องหน้า “โอ้โห...เหมือนจริงๆด้วย” คุณครูได้ยินเสียงนี้ตลอดทางเดิน ไปถึงห้องคุณเหมา เจ๋อ ตุง และ คุณเติ้ง เสี่ยว ผิง พี่หน่อยถามเด็กๆว่า “เด้กว่าในภาพวาดกับหุ่นที่นั่งอยู่ตรงหน้าเด็กๆเหมือนกันมั๊ยคะ “เด็กๆหันซ้ายมองที่รูภาพถ่ายและหันมามองหุ่นที่อยู่เบื้องหน้าเหมือนเล่นเกมส์จับผิดภาพ “เหมือนนะ...อืม...หรือว่าไม่เหมือน” เด็กๆต่างคุ่นคิด “ไม่เหมือนครับ” น้องต้ายกมือแล้วพูดเสียงดังจนทุกคนหันมามอง “ไม่เหมือนตรงไหนคะ” พี่หน่อยถามแบบสงสัย “ก็ดูสิ...ขากางเกงพับไม่เท่ากัน” น้องต้าตอบแบบมั่นใจมากๆ เพื่อนๆ คุณครู หัวเราะกันลั่นห้อง แต่ก็จริงนะคะ ในภาพถ่ายรูปคุณเหมา เจ๋อ ตุง พับขากางเกงขึ้นสูง แต่ที่หุ่นไม่ได้พับขากางเกง สายตาดีไม่เบานะน้องต้า “ใครเป็นลูกจีนบ้าง” ครูแหลมถาม เด็กยกมือกันหยอมแหยม เพราะบางคนก็ไม่แน่ใจว่าใช้หรือเปล่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ใครรับอังเปาบ้าง ยกมือขึ้น” ครูแหลมเปลี่ยนคำถามใหม่ คราวนี้เด็กๆยกมือกันเพียบเลยค่




ออกจากอาคารเชิดชูเกียรติพี่หน่อยพาเด็กๆเดินทางไปต่อที่ลานพระสามสมัย เด็กได้ศึกษาพระพุทธรูปในสมัยต่าง ได้แก่พระพุทธรูปสมัยอยุธยา , สมัยสุโขัย , สมัยล้านนา




เดินต่อมาก็จะพบกับถ้าชาดก เด็กตื่นเต้นมากๆกับถ้ำชาดก เพราะด้านในจะมืดและสว่างสลับกันตลอดเวลา ภายในถ้ำมีเรื่องราวของ “พระเวสสันดร ตอนชูชกสองกุมาร” เด็กสนใจกันมากแต่ก้กรี๊ดกร๊าดกันตลอดทาง เพราะกลัวผี “หนูกลัวๆๆ” น้องแป้งทั้งร้องทั้งดึงเส้ือคุณครูตลอดทาง ฉากที่เด็กๆดูจะตื่นเต้นมากที่สุดก็เห็นจะเป็นตอนที่ชูชกกินจนท้องแตกตายค่ะ เด็กๆจำเอาตอนนี้มาเขียนรูปกันเยอะเลย



ออกมาจากถ้ำกลัวผีก็ไปหาพระเลยค่ะ เพราะที่ต่อไปที่เด็กๆจะไปเยี่ยมชมก็คือ กุฏิพระสงฆ์ มีทั้งหมด ๔ ภาคค่ะ กุฏิพระสงฆ์ภาคกลางจัดแสดงรูปปั้นของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทัย) , กุฏิพระสงฆ์ภาคกลางจัดแสดงรูปปั้นของ ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย และ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ , กุฏิพระสงฆ์ภาคอีสานจัดแสดงรูปปั้นของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ,กุฏิพระสงฆ์ภาคใต้จัดแสดงรูปปั้นของ พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด) และ พระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร)




เดินแค่นี้เด็กๆก็เหงื่อตกเลย แต่ความอยากรู้อยากเห็นไม่เคยหมดเลยค่ะ เด็กเดินทางต่อไปยังบ้านไทย ๔ ภาค เป็นการ จำลองบ้านไทยตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดจาก ๔ ภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอิสาน และภาคใต้ ภายในบ้านแต่ละหลังจำลองวิถีชีวิตความเป็น อยู่ของคนไทยในแต่ละภาค ที่สอดคล้อง กับสภาพสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เด็กเดินขึ้นบ้านทุกหลัง “หนูอยากได้บ้านแบบนี้จัง” เด็กๆบอก “ครูแป๋มก็อยากได้เหมือนกัน” ครูแป๋มคิดในใจ เด็กๆตื่นเต้นตกใจกับหุ่นที่เหมือนจริงในบ้านแต่ละหลัง เดินกันไปก็สะดุ้งโหยงกันตลอดเวลา



ออกจากบ้านไทย ๔ ภาค พี่หน่อยพาเด็กๆไปนั่งพักชมน้ำตกให้ใจเย็นแล้วเดินต่อไปยังลานพระโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวร เพื่อนั่งรอเพื่อนที่ยังเดินมาไม่ถึง ระหว่างก็มีเสียงเด็กน้อย ๒ คนคุยกัน ครูแป๋มหันไปมองเห็นน้ำฝนกำลังงอนพี่บูมอยู่ “ทำไมล่ะน้ำฝน” ครูแป๋มถาม “ก็น้ำฝนรักพี่บูม แต่พี่บูมไม่ยอมรักน้ำฝน” น้ำฝนบอกครูแป๋มและทำท่างอนๆ น้อยอกน้อยใจ “อ้าว...ก็เรายังเด็กกันอยู่เลย จะเป็นแฟนกันได้ยังไง” พี่บูมบอกทำหน้าเศร้าๆ “อ้าว...แล้วน้ำฝนจะทำยังไงต่อไปล่ะ” ครูแป๋มหันไปถามน้ำฝนต่อ “ตอนนี้หนูก็เลยไปรักพี่ภูมิแทน” น้ำฝนเปล่ียนคนรักง่ายดายเหลือเกิน “แล้วพี่ภูมิเค้ารู้ตัวหรือเปล่าเนี่ย” ครูแป๋มถามแต่น้ำฝนไม่ตอบได้แต่ยิ้มๆ




พอเพื่อนๆมากันครบครูแหลมก็นำเด็กๆกล่าวขอบคุณพี่หน่อยที่ช่วยพาเด็กๆเดินชมภายในอุทยานหุ่นขี้ผึ้ง แล้วเราก็ไปทานข้าวกันค่ะ อาหารถูกจัดไว้ให้เด็กๆแล้วที่โรงอาหาร พี่เพียรนำเพื่อนทั้ง ๔๘​คนขอบคุณอาหารกลางวัน เด็กทานข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อยและต่อด้วยไอศครีมที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้เด็กๆ อิ่มหนำสำราญกันเลยค่ะ




กินอิ่มแล้วก็ถึงเวลาทำงานแล้วค่ะ เด็กๆแยกย้ายกันไปนั่งตามกลุ่มของตัวเองแล้วลงมือร่างภาพทันที ภาพที่เด็กๆวาดก็คือสิ่งที่เด็กๆไปเรียนรู้มาในวันนี้ แต่เท่าที่คุณครูไปแอบดูเด็กๆจะชอบตอนที่เข้าไปในถ้ำค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะวาดเรื่องชูชกกันทั้งนั้นเลย



พอวาดเสร็จก็ต้องเอาไปให้ครูแหลมตรวจกันก่อนทุกคน ถึงจะมาลงสีชอล์คและลงสีน้ำ “น้ำฝนวาดอะไรครับ” ครูแหลมถาม “บ้านทรงไทยค่ะ” น้ำฝนตอบ “แล้วบ้านทรงไทยภาคไหนล่ะ” ครูแหลมถามอีก น้ำฝนยืนคิดอยู่นานก่อนจะตอบว่า “ภาคแรกค่ะ”



ทำงานเสร็จเด็กก็ได้ทานไอติมกันอีกรอบค่ะ คราวนี้ได้เลือกเองตามใจชอบเลย ทุกคนเลือกไอติมรสโปรดมากินอย่างเอร็ดอร่อย “ครูแหลมม่อนไม่อิ่ม” ม่อนเดินไปบอกครูแหลม “ไม่อิ่มเหรอ ไปบอกครูแจงว่าเอาข้าวให้ม่อนกินหน่อย” ครูแหลมบอก “ไม่ใช่ม่อนไม่ได้หิวข้าว ..คือว่า ม่อนหิวไอติมครับ...มันยังไม่อิ่มเลย....” ม่อนอธิบาย เรื่องของเรื่องก็คืออยากกินไอติมอีกแท่งที่ ๒ แต่ตามกฎแล้วได้แค่คนละแท่งอยากได้แท่งใหม่ต้องซื้อเองค่ะ “งั้นไปบอกครูแจง” ครูแหลมบอกม่อน ม่อนรีบวิ่งไปหาครูแจงทันที “ครูแจงครับม่อนอยากได้ไอติมอีกแท่งนึง” ม่อนบอก “แต่ม่อนกินไปแล้วนี่ แท่งนี้ม่อนต้องจ่ายตังเอง” ครุแจงบอก “ก็ได้ จ่ายเองก้ได้แต่ม่อนไม่มีตังค์” ม่อนบอก (หมายความว่าไงเนี่ยเจ้าม่อน) ออดอ้อนจนครูแจงใจอ่อนได้ไอติมมาอีกแท่ง กินอย่างอร่อย “ม่อนทำไมได้กินไอติม ๒ แท่ง” ครูแป๋มถาม “ม่อนซื่อเองแต่ม่อนไม่มีตังค์ครูแจงเลยจ่ายให้” ม่อนตอบ (ซื้อเองแต่ไม่มีตังค์คิดได้ไงนะ) “แล้วขอบคุณครูแจงรึยัง” ครูแป๋มถาม ม่อนได้แต่ยืนนิ่ง "ไปขอบคุณครูแจงด้วยนะ หอมแก้มซักทีนึง" ครูแป๋มบอก เจ้าม่อนวิ่งไปหาครูแจงทันที บอกให้ครูแจงก้มลงมาแล้วหอมแก้มครูแจงดัง....จ๊วบ.... แล้วก็วิ่งออกมาด้วยความเขิน แต่...ครูแจงยืนเช็ดแก้มอยู่ยิกๆเพราะมีแต่น้ำลายกับไอติมติดอยู่บนแก้ม




บ่าย ๓ โมงกว่าเด็กก็ทำงานเสร็จและได้กินไอติมกันทุกคน ครุแหลมเรียกเด็กรวมพลอีกครั้ง เพื่อถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกก่อนกลับบ้าน “ศิลปะแหลมคม...” ครูแป๋มตะโกน “เย้........” เด็กๆและคุรครูชูมือขึ้นและตะโกนพร้อมกัน จากนั้นทุกก็แยกย้ายไปขึ้นรถตู้ของตัวเอง




ขากลับคุณครูคิดว่าเด็กๆคงจะเหนื่อยจะเพลียแล้วคงหลับ แต่ที่ไหนได้กระโดดโลดเต้นกันอยู่บนรถ ร้องเพลง คุยกันเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวตลอดทางตั้งแต่ราชบุรี จนถึงโรงเรียนไม่มีหยุด ๕ โมงคณะครูและเด็กๆก็มาถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย


เฮ้อ...เหนื่อยค่ะ แต่สนุกมากๆเลยค่ะ



ขอบคุณพี่โจ้มากๆนะคะที่มาช่วยถ่ายวีดีโอให้ (อีกแล้ว)




ขอบคุณพี่โรจน์นะคะที่มาช่วยถ่ายรูปให้เด็กๆ


ครูแป๋ม ศิลปะแหลมคม
เรียนศิลปะเพื่อความสุข